ธนาคารธนชาต จัดทำโดย นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

18 มิถุยายน 2555








ธนชาต ชูกลยุทธ์ “ธนาคารที่ให้บริการหลากหลายครบเครื่อง”

มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ จับลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย

มั่นใจขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศ


          ธนาคารธนชาต ชูกลยุทธ์ เป็น “ธนาคารที่ให้บริการหลากหลายครบเครื่อง - Fully Integrated Financial Services” มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้หลากหลายและมีคุณภาพ สนองตอบทุกความต้องการทางการเงินให้แก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของทุกหน่วยงานภายในธนาคาร มั่นใจภายใต้ กลยุทธ์นี้จะทำให้ธนชาตประสบผลสำเร็จในการแข่งขัน และขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศได้
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนชาตได้กำหนดทิศทางกลยุทธ์ ในการเป็น “ธนาคารที่ให้บริการหลากหลายครบเครื่อง - Fully Integrated Financial Services ” โดยจะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการทางการเงินให้แก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้บรรลุทิศทางกลยุทธ์ดังกล่าว จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานว่า “จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินครบวงจร มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ความเป็นเลิศทางด้านการบริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถตอบสนองทุกความต้องการทางการเงินของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้ความร่วมมือและความเป็นหนึ่งเดียวกันของทุกหน่วยงาน”
ภายใต้กลยุทธ์ “ธนาคารที่ให้บริการหลากหลายครบเครื่อง” ทีมผู้บริหารและพนักงานในทุกหน่วยงาน มุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น โดยมีผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย บริการด้านเงินฝาก มีทั้งเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เงินฝากกระแสรายวัน และเงินฝากเงินตราต่างประเทศ บริการด้านสินเชื่อ ซึ่งประกอบด้วย 
1. สินเชื่อบุคคล ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเอนกประสงค์ สินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อสารพัดนึก บัตรเครดิต 
2. สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเกี่ยวกับรถยนต์ 
3. สินเชื่อธุรกิจ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อธุรกิจ SME 
4. สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 
5. สินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ 
6. บริการสินเชื่อบุคคลโดยไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล T-loan 
7.บริการบัตรสินเชื่อบุคคล (FLASH Card) 
8. บริการบัตรเครดิต บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริการโอนเงิน บริการรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ บริการ I-Net บริการ SMS Alert และผลิตภัณฑ์บัตรเดบิตแคชแบ็ก บริการด้านอื่นๆ เช่น บริการธุรกิจปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ตั๋วแลกเงิน บริการงานสนับสนุนธุรกิจหลักทรัพย์
“จากนี้ไป ธนชาตจะเป็นธนาคารที่มีบริการหลากหลายครบเครื่อง มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจในการให้บริการที่ดีเลิศแก่ลูกค้าจากพนักงานในทุกหน่วยงาน และจากความมุ่งมั่นดังกล่าวนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้ธนชาตเป็นสถาบันการเงินที่ครบวงจรที่ประสบผลสำเร็จในการแข่งขัน แต่ยังเป็นพลังสำคัญในการที่ทำให้ธนชาตขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศได้ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า “นายสมเจตน์ กล่าว
นายเบรนดอน คิง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังการรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย ส่งผลให้ธนชาตมีขนาดสินทรัพย์ที่เหมาะสมต่อการแข่งขันทางธุรกิจ สามารถกระจายความเสี่ยงโดยการขยายสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในสัดส่วนที่เหมาะสม นอกจากนี้ธนชาตได้ใช้ความเชี่ยวชาญของสโกเทียแบงก์ ในการนำวิธีการปฏิบัติที่ได้ผลและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล (Global Best Practice) มาปรับใช้ เช่น ระบบงานด้าน Customer Experience Management, Sale and Service Model การรวมศูนย์ระบบสนับสนุนปฏิบัติการ (Processing Support Center-PSC) เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลและเวลาในการดูแลลูกค้ามากและครบถ้วนขึ้น และระบบ LOS (Loan Origination System) ที่จะเตรียมความพร้อมของข้อมูลเพื่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและเที่ยงตรง ซึ่งระบบทั้งหมดที่สโกเทียแบงก์นำมาปรับใช้นี้ เชื่อว่าจะทำให้ธนชาตสามารถที่จะส่งมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่า ด้วยการนำเสนอบริการที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองทุกความต้องการทางการเงินของลูกค้าอย่างครบวงจร และยังเป็นการสร้างผลการดำเนินงานทางการเงินในระดับเทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจากความสำเร็จเหล่านี้ จะส่งผลให้ธนาคารธนชาตขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศได้ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น